22 เม.ย. 2554

ถ้ำแก้วโกมล




วนอุทยานถ้ำแก้วโกมล   เดิมเรียกชื่อถ้ำผลึกแคลไซต์แม่ลาน้อย ตั้งอยู่บริเวณเขาดอยถ้ำ หมู่ที่ 14 บ้านห้วยมะไฟ ต.แม่ลาน้อย อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน ในเขตประทานบัตรเหมืองแร่ฟลูออไรต์ ของห้างหุ้นส่วนจำกัด พี. วี ซัพพรายส์ (ไทยแลนด์) อยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่ยวมฝั่งซ้าย  ถ้ำแก้วโกมล ได้ถูกค้นพบโดยวิศวกรเหมืองแร่ ประจำสำนักงานทรัพยากรธรณี จังหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2536 สภาพภายในถ้ำเต็มไปด้วยผลึกแคลไซต์ (Calcite) รอบด้านทั้งบริเวณผนัง พื้น และเพดานของถ้ำ ผลึกมีรูปร่างลักษณะแตกต่างกันมากมายหลายแบบจับตัวกันมองดูคล้ายปะการัง ดอกกระหล่ำ เกล็ดน้ำแข็ง ดอกเข็ม และโคมไฟเพดาน มีสีขาวใส เหลือง แดง และน้ำตาล มีความสวยงามมากตามธรรมชาติ มีคุณค่าและความสำคัญ ต่อการศึกษาค้นคว้าวิจัย  ในปี พ.ศ.2538 กรมทรัพยากรธรณี ได้ทำการพัฒนาด้านความสะดวกและความปลอดภัยในการเข้าเที่ยวชมถ้ำ ได้ดำเนินการกันเขตพื้นที่บริเวณรอบถ้ำในเขตรัศมี 200 เมตร ครอบคลุมเนื้อที่ 51 ไร่ 1 งาน 04 ตารางวา ออกจากพื้นที่ประทานบัตร โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 ตรี แห่ง พ.ร.บ เหมืองแร่ พ.ศ.2510 ซึ่งเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2540 ให้พื้นที่กลับไปมีสภาพเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ภายใต้การกำกับดูแลของกรมป่าไม้ โดยจัดตั้งเป็นวนอุทยานแม่ลาน้อย ตามความในมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507  ในปี พ.ศ.2543 ได้มีการส่งมอบและรับมอบถ้ำผลึกแคลไซต์แม่ลาน้อยระหว่างกรมทรัพยากรธรณี กับกรมป่าไม้โดยผู้ว่าราชการจังแม่ฮ่องสอน เป็นผู้รับมอบ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2543 ณ วนอุทยานถ้ำแม่ลาน้อย
ลักษณะเด่นของถ้ำแก้วโกมล   คือเป็นโพรงลึกลงไปในแนวดิ่งถึง 30 เมตร มีทางเดินและทางออกทางเดียวประมาณ 120 เมตร กล่าวกันว่าถ้ำแก้วโกมลแห่งนี้เป็นถ้ำผลึกแคลไซด์ที่สวยงามที่สุดในประเทศไทย และพบเป็นแหล่งที่ 2 ในทวีปเอเชีย โดยแห่งแรกอยู่ที่ประเทศจีน
การเกิดผลึกแคลไซด์   หรือแคลเซียมคาร์บอเนต เกิดจากกระบวนการกลั่นตัวตกผลึก (Crystallizaton) ของไอน้ำร้อนที่ละลายสารแคลเซียมในถ้ำจนอิ่มตัวแล้วเกิดเป็นผลึกจับตามผนังถ้ำ ชื่อว่าถ้ำแก้วโกมลเดิมเป็นทางน้ำร้อนใต้ดิน เมื่อกระแสน้ำร้อนละลายสารแคลเซียมที่ฟุ้งกระจายอยู่ในโพรงถ้ำภายใต้อุณภูมิที่เหมาะสมจึงเกิดเป้นผลึกแร่บริสุทธ์และอ่อนนุ่มราวหิมะ ซึ่งพบเห็นได้ยากมาก ภายในถ้ำแก้วแบ่งออกเป็นโถงถ้ำทั้งหมด 5 ห้อง เมื่อผ่านทางเข้าปากถ้ำ คุณสามารถเดินชมถ้ำแก้วไปตามทางเดินที่เชื่อมถึงกันตลอด โถงถ้ำที่น่าสนใจได้แก่ห้องที่ 4 ซึ่งมีผลึกแคลไซด์ บริสุทธิ์ที่มีรูปร่างคล้ายปะการัง ผลึกรูปเข็มและเกร็ดน้ำแข็ง และห้องที่ 5 ซึ่งเป็นห้องที่อูยู่ลึกที่สุดมีความสวยงามมากที่สุด มีผลึกแคลไซด์ที่สมบูรณ์มากตามพื้นและผนัง ทั้งผลึกรูปเข็มและผลึกรูปปะการังสีขาว อย่างไรก็ดี เนื่องจากพื้นที่บริเวณนี้เป็นพื้นที่ที่มีความเปราะบาง คุณจึงควรระวังไม่ให้ชนกับผลึกแคลไซด์ภายในถ้ำขณะเดินชม เพราะอาจก่อให้เกิดความเสียหายได้  ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2544 สมเด็จพระนางจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร ถ้ำแม่ลาน้อย และได้พระราชทานนามถ้ำแม่ลาน้อยเป็นชื่อ ถ้ำแก้วโกมล และได้พระราชทานนามชื่อห้องในถ้ำแก้วโกมลซึ่งอยู่ภายในถ้ำเป็นชั้นๆจำนวน 5 ชั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น