ประสาทหินพิมาย
สถานที่ตั้ง : อุทยานประวัติศาสตร์พิมายนั้น ก็ตั้งอยู่ในตัวอำเภอพิมาย ทางทิศตะวันออก เฉียงเหนือของโคราช เป็นระยะทาง 60 กิโลเมตร ตามเส้นทาง " สายมิตรภาพ โคราช - ขอนแก่น " ปราสาทหินพิมาย เป็นแหล่งโบราณคดีที่ทรงคุณค่า ทาง ประวัติศาสตร์
การเดินทาง : จากตัวเมืองนครราชสีมาไป ตามทางหลวงหมายเลข 2 (นครราขสีมา - ขอนแก่น) จนถึงหลัก กม.ที่ 49 เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 206 อีกประมาณ 10 กม. ถึงปราสาทหินพิมาย รวมระยะทางจากตัวเมืองนครราชสีมา ถึงปราสาทหิน พิมายประมาณ 59 กม. สภาพทางหลวงหมายเลข 206 เป็นถนนลาดยาง อยู่ในสภาพดี จากตัวเมืองนครราชสีมา มีบริการรถประจำทาง รถขนส่งและรถ รับจ้าง บริการรับ - ส่งการคมนาคมสะดวก และปลอดภัย
ปราสาทหินพิมาย เป็นปราสาทขอมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ตั้งอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา (โคราช) สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๗ ในสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ กษัตริย์แห่งอาณาจักรขอม ด้วยศิลปะแบบปาปวนเช่นเดียวกับปราสาทหินพนมวัน และปราสาทหินพนมรุ้ง แต่แตกต่างกันตรงที่ปราสาทหินพิมายจะหันหน้าไปยังทิศใต้คือประเทศเขมร หน้ากำแพงชั้นนอก ด้านซ้ายมือของทางเดินเข้าสู่ปราสาทจะมี พลับพลา ซึ่งเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เป็นที่เตรียมพระองค์สำหรับกษัตริย์หรือเจ้านายชั้นสูงเพื่อที่จะเปลี่ยนเครื่องทรงและจัดของสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในปราสาท เดิมเรียกว่า คลังเงิน เพราะได้ขุดพบโบราณวัตถุเป็นจำนวนมาก ทั้งรูปเคารพ เครื่องประดับและเหรียญสำริดเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ในการเดินทางเข้าสู่ศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์จะเริ่มต้นที่ สะพานนาคราช ซึ่งทำเป็นรูปพญานาคเจ็ดเศียรแผ่พังพานอยู่เพื่อนำไปสู่ ซุ้มประตู หรือ โคปุระ และ กำแพงแก้ว เมื่อเดินผ่านกำแพงแก้วแล้วก็จะถึง ชานชาลา ซึ่งเป็นทางเดินที่ก่อสร้างด้วยหินทรายเป็นเส้นทางนำไปสู่ ระเบียงคด ซึ่งมีซุ้มประตูอยู่ตรงกลางเช่นเดียวกับกำแพงแก้ว จากนั้นก็จะถึง ปราสาทประธาน หอพราหมณ์ ปรางค์หินแดง และ ปรางค์พรหมทัต โดยที่ทับหลังหรือหน้าบันของปราสาทประธานทางด้านทิศใต้ (ด้านหน้าปราสาท) จะเป็นรูป ศิวนาฏราช ส่วนทางด้านทิศอื่นๆ จะเป็นภาพเรื่องเล่าจาก รามเกียรติ์ และเรื่องราวทาง พุทธศาสนา และภายในห้อง ครรภคฤหะ จะมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่